http://watpracha.siam2web.com
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

ประวัติวัดประชาโฆสิตาราม

(Root) 2010211_29731.jpg

                วัดประชาโฆสิตาราม เดิมชื่อว่า “วัดบางนกแขวก” ตามชื่อคลอง และชื่อหมู่บ้าน ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๒ ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมมีเนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา

(Root) 2010218_69226.jpg  

                วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๑ ตรงกับปลายสมัยพระพุทธเจ้าเสือ กษัตริย์องค์ที่ ๑๙ สมัยกรุงศรีอยุธยา สำหรับรายชื่อเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ไม่สามารถจะสืบทราบได้ เพราะการบันทึกได้ขาดหายไป ที่สืบทราบได้มีประวัติความเป็นมาดังนี้ พระอธิการช่อ ในสมัยของท่าน ได้มีการย้ายพระอุโบสถหลังเก่า ไปทางทิศเหนือของวัด ลักษณะของพระอุโบสถเป็นแบบอาคารไม้มุงด้วยจาก และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ ต่อมาในสมัยของพระอธิการผึ้ง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองต่อจากพระอธิการช่อ ในราวปี พ.ศ.๒๔๒๒ ปรากฏว่าพระอุโบสถที่สร้างในสมัยพระอธิการช่อนั้น ได้ชำรุดทรุดโทรม นายเมือง นางขำ ได้มีจิตศรัทธา ปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนมาเป็นแบบก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องดินเผา สร้างทับหลังเก่า และได้สร้างพระประธานขึ้นใหม่ หนึ่งองค์ หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๙ นิ้ว  

                ต่อมา ในราวปี พ.ศ.๒๔๔๓ พระอาจารย์บุญมี พระภิกษุในวัด ได้ทำการย้ายศาลาการเปรียญ จากริมน้ำไปทางทิศใต้ เปลี่ยนแปลงให้กว้างขวางกว่าเดิม ในปีเดียวกันนี้ นายเมือง นางขำ ได้สร้างหอสวดมนต์อีกหลังหนึ่ง 

                พ.ศ.๒๔๖๓ สมัยพระครูสุนทรโฆสิต (ทองอยู่) เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด อุโบสถชำรุดทรุดโทรม จึงได้ทำการรื้อแล้วปลูกสร้างใหม่ โดยทำการก่อสร้างในที่เก่าขนาด ๔ วา, ๒ ศอก, ยาว ๑๒ วา ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบ โดยมีประชาชนในละแวกนั้น และขุนพัฒนโพงพาง(สมบูรณ์   กล้ายประยงค์) และนางตาบ    กล้ายประยงค์ (ภรรยา) ได้รวบรวมจตุปัจจัยสมทบทุนสร้าง จนแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ.๒๔๖๕ และในปี พ.ศ.๒๔๖๔  ๒๔๖๗ ได้ทำการก่อสร้างกุฎี หอสวดมนต์ หอฉัน หอรับแขก รวมทั้งสร้างถนนภายในวัด  

                พ.ศ.๒๔๘๐ นางตาบ     กล้ายประยงค์ ได้มอบกรรมสิทธิ์ ที่ดินให้ ๔ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา ให้เป็นที่ปลูกสร้างอาคารเรียน และสร้างโรงเรียนแบบ ป.๒ ข. พิเศษ ๒ ชั้น ด้วยไม้สัก ขนาดกว้าง ๑๐.๐๐ เมตร ยาว ๑๗.๖๐ เมตร และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างบ้านพักครู ศาลาท่าน้ำ ถนนคอนกรีตโต๊ะเรียน พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว พร้อมด้วยกระจก

(Root) 2010211_31399.jpg 

                พ.ศ.๒๔๘๑ – ๒๔๘๗ นางตาบ      กล้ายประยงค์ พร้อมด้วยญาติได้ต่อมุขอาคารโรงเรียน และอุปกรณ์การศึกษา และได้มอบบ้านทรงไทย ๒ ชั้นให้แก่วัด เพื่อปลูกสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในระยะที่พระครูสุนทรโฆสิต เป็นเจ้าอาวาสได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัดอย่างคณานับ จนต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๕ พระครูสุนทรโฆสิต ได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดบางนกแขวก” มาเป็น “วัดประชาโฆสิตาราม”

  (Root) 2010211_31601.jpg

(Root) 2010211_31549.jpg

                พ.ศ.๒๔๘๕  พระครูสุนทรโฆสิต ได้มรณภาพลง ต่อมาพระวิจารณ์     ?านวิจาโร (หลวงพ่อคลี่     ?านวิจาโร (ศิริสวัสดิ์)) (ต่อมามีสมณศักดิ์เป็นพระครูสมุทรวิจารณ์) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส

(Root) 2010211_31498.jpg 

               ขณะที่ปกครองวัดประชาโฆสิตารามนั้น หลวงพ่อท่านได้ทำการวางแผนผังวัดใหม่ อันเนื่องมาจากสิ่งที่ปลูกสร้างมาตั้งแต่ครั้งก่อนได้ชำรุดทรุดโทรม และคับแคบ จึงได้ทำการซ่อมแซม รื้อถอนทำการปลูกสร้างใหม่ให้เป็นระเบียบ อันได้แก่ กุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ ศาลาเอนกประสงค์ โรงพิธี ศาลาบำเพ็ญกุศล สะพานข้ามคลอง โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาท่าน้ำ โรงครัว สถานีอนามัยวัดประชาฯ + อุปกรณ์ทางการแพทย์ โรงเรียนวัดประชาฯ + อุปกรณ์การเรียน, ทุนการศึกษา ซุ้มป้ายวัด ถนนทางเข้าวัด บ่อน้ำบาดาลชุมชน ปรับปรุงคลองชลประทาน ทำเขื่อนกั้นน้ำ ริเริ่มชุมชนแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เป็นต้น

(Root) 2010211_31336.jpg   (Root) 2010211_31367.jpg

พ.ศ.๒๕๑๓ ได้พิจารณาเห็นว่า พระอุโบสถหลังเก่ามีสภาพชำรุดทรุดโทรม และคับแคบ หลวงพ่อท่านจึงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาแทน (ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถเก่าให้เป็นวิหารแทน)ในที่ดินของ นางสาวเปรียบ    กรสวัสดิ์ ซึ่งถวายกรรมสิทธิ์(โฉนดที่ดิน)ให้แก่วัดในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๙  จำนวน ๒ ไร่ ๒ งาน ๒ ตารางวา โดยที่พระอุโบสถหลังใหม่ มีความกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๓๖ เมตรทรงเหยียบมุข ๓ ชั้น ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๗๒ ตารางวา ใต้ถุนสูง ๔ เมตร วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๔ โดยพระธรรมปิฎก (อดีตเจ้าอาวาสวัดประทุมคงคาในสมัยนั้น)

(Root) 2010211_32328.jpg

วันที่ ๒๒  พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๒ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ รวมทั้งได้พระราชทาน พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดิษฐานหน้าบันพระอุโบสถของวัด

(Root) 2010211_31626.jpg

                วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเททองพระประธานปฏิมากร สำหรับประดิษฐานไว้หน้าพระอุโบสถ

 (Root) 2010211_31714.jpg

(Root) 2010218_69548.jpg 

(Root) 2010218_69276.jpg

                วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒ สมเด็จพระบรมโอสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทำพิธีตัดหวายลูกนิมิต

(Root) 2010211_31671.jpg

                วัดประชาโฆสิตาราม เป็นวัดที่ใหญ่ และเจริญรุ่งเรืองวัดหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามเป็นวัดที่มีพระอาจารย์ เกจิ ผู้มีปฏิปทาที่เปรี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรม โดยเฉพาะ พระครูสมุทรวิจารณ์ (หลวงพ่อคลี่  ฐานวิจาโร (วิจารณ์    ศิริสวัสดิ์)) ท่านได้รับสมญานามว่า พระเกจิแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียง เคารพนับถือท่านมาก ท่านได้สร้างถาวรวัตถุ และความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัด และชุมชนอย่างมากมายสุดแต่คณานับ ท่านเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดประชาโฆสิตาราม เป็นระยะเวลา ๔๓ ปี ท่านได้มรณภาพลง ในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๓

(Root) 2010211_32015.jpg

สิ่งที่เป็นหลักสำคัญของวัด 

พระประธานในพระอุโบสถ มีชื่อว่า พระมงคลโฆสิต เป็นพระนั่งปางมารวิชัยนายเมือง นางขำ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ 

ถาวรวัตถุ

พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอฉัน โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงพิธี ศาลาท่าน้ำ บ่อน้ำบาดาล 

ที่ธรณีสงฆ์

มีเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๑ งาน ๗๒ ตารางวา ตั้งอยู่ ณ ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม วัดเก็บผลประโยชน์เอง ไม่ได้ให้ผู้อื่นเช่าถือ

ลำดับเจ้าอาวาส 

รายชื่อเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ไม่สามารถจะสืบทราบได้ เพราะการบันทึกได้ขาดหายไป ที่สืบทราบได้มีประวัติความเป็นมาดังนี้ ๑.พระอธิการช่อ, ๒.พระอธิการผึ้ง, ๓.พระครูสุนทรโฆสิต (หลวงพ่อทองอยู่), ๔.พระครูสมุทรวิจารณ์ (หลวงพ่อคลี่  ฐานวิจาโร (วิจารณ์    ศิริสวัสดิ์))

                ปัจจุบัน วัดประชาโฆสิตาราม มีพระอธิการอุทัย   อิสฺสรธมฺโม (หลวงพ่ออุทัย เอี่ยมสะอาด) เป็นเจ้าอาวาสได้รับการแต่งตั้งเมื่อ วันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ต่อจากท่านพระครูสมุทรวิจารณ์ที่ท่านได้มรณภาพไป 

 
Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 42,415 Today: 6 PageView/Month: 95

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...